Saturday, May 31, 2014

ยุทธศาสตร์อาเซียนปลอดภัย จะอยู่กับใคร จีนหรือสหรัฐฯ


คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif

 


ผู้นำชาติอาเซียน ยืนถ่ายภาพร่วมกันบนเวทีประชุม 4th Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA) ที่เซี่ยงไฮ้ (21 พ.ค.) (ภาพเอเอฟพี)
คำอธิบาย: http://www.manager.co.th/images/blank.gif
       เอเยนซี - แม้ล่าสุด จีนจะเผชิญความขัดแย้งกับเวียดนาม แต่ผู้เชี่ยวชาญฯ หลายคนยังมองว่าขณะนี้ประเทศจีนมีโอกาสที่ดีกว่าสหรัฐอเมริกา ในการชนะความไว้วางใจของบรรดาชาติอาเซียน
     
       เมื่อวันที่ 20 พ.ค. รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความสำเร็จของการประชุมสุดยอดผู้นำ Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia (CICA) (การประชุมว่าด้วยการปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย) ในเซี่ยงไฮ้ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า สำหรับจีนนั้น ความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติอาเซียน เป็นสิ่งที่มีความหมายยิ่ง โดยจีนมีความพยายามสร้างเสถียรภาพในกลุ่มผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคฯ
     
       ข้อเสนอที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในทางปฏิบัติ ระหว่างจีนและอาเซียน จะช่วยเพิ่มความไว้วางใจซึ่งกันและกันและพัฒนายุทธศาสตร์เชิงลึก ในความร่วมมือด้านการป้องกัน และการรักษาความปลอดภัย นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในหมู่ชาติอาเซียน ขณะที่บทบาทของสหรัฐฯ ในกลุ่มชาติอาเซียน ที่ผ่านๆ รับรู้กันว่ามักจะเป็นไปในทางสนับสนุนชาติอาเซียนให้พิพาทกับจีน โดยเฉพาะในประเด็นอธิปไตยทางทะเล
     
       ที่ผ่านมานั้น บทบาทของจีนในการยื่นมือเข้าช่วยเหลือชาติอาเซียนยามทุกข์ยาก โดยเฉพาะภัยพิบัติธรรมชาติ นับว่าได้สร้างความไว้วางใจให้ชาติต่างๆ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดว่า จีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน รวดเร็วไม่คิดนาน ไม่ตระหนี่ในการบรรเทาภัยพิบัติที่เพื่อนบ้านอาเซียนเผชิญฯ อาทิ ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว เมื่อพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,976 คน หรือปีก่อนหน้าครั้งพายุโซนร้อนวาชิ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในฟิลิปปินส์ แม้กระทั่งตอนเกิดเหตุสึนามิในเอเชียเมื่อปี 2547 และที่ญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้ว
     
       หนังสือพิมพ์ โกลบอลไทม์ เคยเขียนในบทบรรณาธิการ ว่า การแสดงความมีน้ำใจแก่ประเทศเพื่อนบ้านในยามจำเป็น และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัย อย่างไม่เคยลังเล ทำให้จีนได้รับความไว้วางใจมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายสื่อฯ ที่แสดงความเห็นต่างไป อาทิ เซาท์เทิร์น เดลี่ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์ไม่ได้รู้สึกดีกับความช่วยเหลือของจีน
     
       ฉัง ว่านฉวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ได้กล่าวถึงการผลักดันข้อเสนอเพื่อสร้างความเข้มแข็งในทางปฏิบัติ ซึ่งจะให้ความร่วมมือในด้านของการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยอาเซียน ว่าบทบาทของอาเซียน ซึ่งกำลังเติบโตโดดเด่น ทำให้สหรัฐฯ ให้ความสนใจ ด้วยมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "การปรับสมดุลอำนาจในเอเชีย" หลังจากก่อนหน้านั้น ในช่วงบริหารของประธานาธิบิดีบิล คลินตัน และจอร์จ ดับเบิลยู บุช ภูมิภาคอาเซียนมีบทบาทเพียงเล็กน้อยในกลยุทธ์ระดับโลกของสหรัฐฯ เพิ่งจะได้กลายเป็นส่วนสำคัญของวาระการประชุมการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลโอบามานี้เอง
     
       จ้าว เสี่ยวโจว นักวิจัยจากศูนย์ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ของสถาบันการทหารกองทัพปลดปล่อยประชาชนฯ เชื่อว่า จีนได้เปรียบกว่าสหรัฐฯ ในด้านความไว้วางใจ เพราะเมื่อมองไปยังอนาคตแล้ว ดูเหมือนว่าความร่วมมือระหว่างจีนกับชาติต่างๆ ในอาเซียนดูจะเป็นไปได้ และแก้ปัญหาได้ดีกว่าโดยเฉพาะในการให้ความช่วยเหลือยามทุกข์เดือดร้อน
     
       ที่ผ่านมา จีนยังได้แสดงผลงานในภารกิจเป็นแม่ทัพคุมปราบโจรสลัดที่อ่าวอาเดน และน่านน้ำโซมาเลียอย่างราบคาบ รวมทั้งการช่วยเหลือค้นหาเครื่องบินโดยสารมาเลเซียที่สูญหายไป โดยไม่ติดใจเอาความให้กลายเป็นเรื่องบาดหมางระดับชาติ
     
       จ้าว เสี่ยวโจว กล่าวว่า จีนยังมีข้อได้เปรียบทางการเมืองและเศรษฐกิจซึ่งใกล้ชิดผูกพันกับชาติอาเซียน อันเปรียบเสมือนกงล้อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่สำคัญ ดังนั้น หากจีนพัฒนาความไว้วางใจในการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงเป็นเนื้อเดียวของภูมิภาคอาเซียนได้เมื่อใด เมื่อนั้นภูมิภาคนี้จะเติบโตอย่างที่ไม่เคยเป็นมา
     
       โจว ฟางเย่อ นักวิจัยจากสถาบันยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งชาติจีน ได้เขียนบทความใน โกลบอล ไทม์ส ว่า สหรัฐฯ กำลังสูญเสียภาพลักษณ์มิตรประเทศ และอาจถูกคนไทยต่อต้านฯ ในบทบาทของการออกมาต่อต้านรัฐประหาร อีกทั้งระงับความช่วยเหลือทางด้านทหารไทย 3.5 ล้านดอลลาร์ โดยประณามรัฐประหารไม่ชอบด้วยกม.
     
       สำนักข่าวเอพี รายงานเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา อ้างคำแถลงของ มารี ฮาร์ฟ รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทยในเบื้องต้น 3.5 ล้านดอลลาร์ หลังจากเกิดการรัฐประหารในไทย ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐ ยังกำลังทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีต่อไทย ตลอดจนความช่วยเหลือจากโครงการระดับสากลและระดับภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป
     
       ตรงกันข้ามกับท่าทีของจีน ซึ่งออกมาย้ำชัดยังคงราบรื่นฉันท์มิตรเพื่อนบ้านที่ดี แม้การเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ตาม โดยนายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ได้กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว ระหว่างงานแถลงข่าวประจำวันในวันจันทร์ (26 พ.ค.) ที่ผ่านมา ระบุว่าในฐานะมิตรประเทศเพื่อนบ้าน จีนได้ติดตามสถานการณ์การเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะรักษาไว้ซึ่งความสงบสันติ อดทนอดกลั้น และร่วมกันแก้ไขปวงปัญหาทั้งหมด ด้วยการเจรจาและปรึกษาหารือเพื่อนำมาซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชาติในเร็ววัน
     
       “ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองของไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างจีนกับไทย จะยังคงก้าวเดินหน้าต่อไปนายฉิน กัง กล่าว
     
       โจว ฟางเย่อ กล่าวว่า ในความเป็นจริง รัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้งการเมืองได้ และอาจจะก่อให้เกิดผลเสียในการปฏิรูปการเมืองสำหรับวันข้างหน้า แต่ก็เป็นมาตรการเร่งด่วนฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขระยะสั้น สร้างระเบียบสังคม บังคับให้ทุกฝ่ายหันหน้ากลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา นอกจากนั้น กรณีของไทยนี้ แม้รัฐประหารจะไม่ใช่หนทางอุดมคติในการขจัดความขัดแย้ง แต่ก็เป็นทางเลือกที่สอง
     
       "สหรัฐฯ เมินที่จะวิเคราะห์ปัญหาความเป็นจริงของการเมืองในประเทศไทย และมักจากอ้างคำว่าประชาธิปไตยอย่างว่างเปล่า ซึ่งเหตุผลที่น่าสังเกตคือ สหรัฐฯ ห่วงการคุกคามคุณค่าของประชาธิปไตย หรือห่วงยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ" โจว กล่าวและเสริมความคิดเห็นว่า สหรัฐฯ อาจจะวิตกผลกระทบของการรัฐประหาร ที่จะมีต่อแผนยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ เพราะไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนฯ ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถค้นพบวิถีทางแห่งประชาธิปไตยในรูปแบบของตนเอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง และนำไปสู่การเลือกตั้งฯ ได้ นั่นย่อมสร้างความเชื่อมั่นว่าชาติอาเซียนสามารถเติบโตไปได้ในรูปแบบของตนเอง และสหรัฐฯ คงจะลำบากขึ้นในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณค่าประชาธิปไตยของตน
     
       โจว กล่าวว่าการสะดุดหยุดลงทางการเมืองของไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำให้แผนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและไทยพลอยชะลอตัว ซึ่งเป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกาที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไร แต่สามารถหยุดจีนในการก้าวเชื่อมมาทางด้านชาติอาเซียน ดังนั้น เมื่อการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังรัฐประหาร ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างจีนและไทย อาจจะกลับคืนสู่วาระฯ สืบเนื่องด้วยไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาฟื้นคืนทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ และความช่วยเหลือไว้วางใจกันของจีนกับไทย ย่อมเป็นแรงกดดันต่อแผนยุทธศาสตร์ถ่วงดุลอำนาจเอเชียของสหรัฐฯ
     
       โจว สรุปว่า ณ เวลานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ คงจะต้องลงทุนลงแรงมากขึ้น เพื่อจะถ่วงดุลย์อำนาจจีนในคาบสมุทรอินโดจีน


แล้วนักศึษาคิดว่า อาเซียนควคจะอิงแอบกับใครดีกว่ากัน เพราะเหตุใด?
(ตอบโดย Comment นะครับ)